ลดขนาด เพิ่มขนาด
"วุฒิไกร" ปลื้มระบบ "ระงับข้อพิพาทออนไลน์" ช่วยลดขั้นตอนไกล่เกลี่ย จากเดือนครึ่ง เหลือ 2 วัน - (มีภาพ)
สยามรัฐ | 3 ก.พ. 2564 | หน้า 7 | PR Value THB 334,120.50
          กรมทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้การนำของ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้า ขับเคลื่อนองค์กรสู่ Smart DIP จัดบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ฟรีให้กับประชาชน โดยมุ่งแก้ปัญหาข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมเผยเคสแรกไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 2 วัน จากเดิมที่ใช้เวลารวมกว่า 45 วัน อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาย้ำผู้ใช้บริการต้องได้รับความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงจากโรคดังกล่าว และลดจำนวนคดีทรัพย์สินทางปัญญาที่จะขึ้นสู่ศาล
          นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงความคืบหน้าจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนากระบวนการระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์และสถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center: THAC) กระทรวงยุติธรรมในการนำระบบระงับข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR)มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา
          เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 มีผู้ใช้บริการเป็นรายแรก ซึ่งหลังจากคู่กรณีเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทออนไลน์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาตกลงกันได้โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทร่วมกันในวันจันทร์ที่ 11 มกราคม2564 นับว่าใช้เวลาดำเนินการไกล่เกลี่ย  ข้อพิพาทเพียง 2 วันทำการเท่านั้น จึงถือว่ารวดเร็วกว่าวิธีการไกล่เกลี่ย ในรูปแบบปกติที่จะต้องนัดหมาย คู่กรณีเข้ามาเจรจาที่กรมฯ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 45 วันกว่าจะเสร็จสิ้น
          นายวุฒิไกร กล่าวว่า การดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็น ถึงประสิทธิภาพในการนำเทคโนโลยี มาใช้พัฒนางานบริการให้มีความสะดวกรวดเร็ว ดำเนินการได้ทุกที่ทุกเวลา ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือส่งเอกสารหลักฐาน เพราะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งหมดอีกทั้งยังช่วยลดคดีความที่ต้องนำขึ้นสู่ศาลตามเจตนารมณ์ของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย
          อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวอีกว่า ระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์เป็นทางเลือกในการอำนวยความยุติธรรมซึ่งคำนึงถึงความสะดวกของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นหลัก รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในแผนขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น Smart DIP โดยกรมฯ มีเป้าหมายในการปรับรูปแบบงานบริการประชาชนให้อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดข้อจำกัดต่างๆเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงงานบริการของกรมฯ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังตอบโจทย์แนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้หน่วยงานภาครัฐ นำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อรองรับยุคดิจิทัล ยกระดับการบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
          กรมทรัพย์สินทางปัญญาตระหนักดีว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ จึงอาจก่อให้เกิดกรณีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ซึ่งเมื่อเกิดข้อพิพาทดังกล่าว ประชาชนสามารถใช้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์กับกรมฯ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
          1. ยื่นคำขอไกล่เกลี่ยผ่านระบบออนไลน์ที่ http://odr.thac.or.th หรือเข้าไปที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.go.th เลือก "การระงับข้อพิพาทออนไลน์"
          2. ระบุอีเมลของคู่กรณีเพื่อเชิญคู่กรณีเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยออนไลน์
          3. เมื่อคู่กรณีเข้าสู่กระบวนการแล้วการไกล่เกลี่ยจะดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดกระบวนการ เช่น การนัดหมาย การเจรจาผ่านทางแชทรูม หรือ Video Conference ตลอดจนการจัดทำร่างและลงนามในบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท
          ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานระงับข้อพิพาทกองกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 02-547-5029 ในวันและเวลาราชการ

          บรรยายใต้ภาพ
          นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา



Copyright (c) 2018, Dataxet Limited. All Rights Reserved.